
“สะเก็ดเงิน” เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่พบได้แทบทุกส่วนของร่างกายโดยมีตำแหน่งเฉพาะ (specialized areas) ที่รักษาได้ยาก ได้แก่
- หนังศีรษะ (Scalp psoriasis)
- มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยสะเก็ดเงิน จะมีผื่นที่หนังศีรษะเป็นที่แรก
- กว่า 80% ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะมีผื่นที่หนังศีรษะร่วมด้วย
- การมีขุยหนา การมีผม ทำให้ยาซึมผ่านผิวหนังได้ยาก
- หนังศีรษะเป็นส่วนของผิวหนังที่มีความหนามากกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้ยาซึมผ่านได้น้อยกว่าบริเวณอื่นๆ
- หน้า (Facial psoriasis)
- เป็นส่วนของร่างกายที่มักไม่ค่อยพบผื่นสะเก็ดเงิน
- แต่ถ้ามี จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมาก เพราะมักอักเสบแดงมาก
- มักเป็นๆหายๆ
- เล็บ (Nail psoriasis)
- เป็นหนึ่งในตำแหน่งของสะเก็ดเงินที่รักษายากที่สุด
- เพราะเล็บเป็นส่วนที่หนาที่สุดของร่างกาย อีกทั้งบางทียังมีขุยหนาใต้เล็บอีกด้วย ทำให้ยาซึมผ่านได้ยาก
- เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญด้านความสวยงาม ความมั่นใจของผู้ป่วยอย่างมาก
- ฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmoplantar psoriasis)
- พบได้ทั้งแบบเป็นผื่นขุยหนา ผื่นแดงอักเสบ หรือผื่นตุ่มหนองก็ได้
- ผิวหนังบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าหนา ทำให้ดูดซึมยาได้ยาก
- เป็นตำแหน่งที่ใช้งานมาก ทำให้มีการเสียดสีเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นของโรคสะเก็ดเงิน
- ซอกพับ ขาหนีบ รักแร้ ใต้ราวนม (Inverse/intertriginous psoriasis)
- เป็นตำแหน่งที่มักมีการเสียดสี ทำให้เกิดผื่นกำเริบได้ง่าย
- เป็นบริเวณที่เกิดอับชื้นง่าย ทำให้เกิดการระคายเคืองกระตุ้นผื่นได้ง่ายเช่นกัน
- เป็นบริเวณที่ผิวบางกว่าตำแหน่งอิ่น ทำให้ปรับใช้ยาให้เหมาะสมยาก
- อวัยวะเพศ (Genital psoriasis)
- เป็นตำแหน่งที่พบไม่บ่อยในคนไทย
- แต่เป็นตำแหน่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกรณีชีวิตคู่
- เป็นตำแหน่งที่ผิวหนังไม่หนา แต่การปรับใช้ยาเพื่อการรักษาค่อนข้างท้าทาย
บริเวณพิเศษเหล่านี้มักเป็นตำแหน่งที่ยากต่อการรักษา โดยเฉพาะการรักษาด้วยการทายาเพียงอย่างเดียว ในบางกรณี อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การรับประทานยา การฉายแสงอาทิตย์เทียม การฉีดยาเฉพาะที่ หรือ การฉีดยารักษาสะเก็ดเงิน
ทั้งนี้ควรเป็นการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับคนไข้แต่ละคน โดยพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสียของการรักษาแต่ละวิธีกับแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังโดยตรง
รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน