
ฝ้า (melasma) เป็นความผิดปกติของเม็ดสีอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนเอเชียและไม่มีใครอยากเป็น แต่ก็มีความจริงหลายเรื่องที่อาจเข้าใจผิดกันไป
1. ฝ้าไม่ได้เกิดจากแสงแดดเท่านั้น
เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดฝ้า แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่น ๆ กระตุ้นให้เกิดฝ้าได้อีกด้วย
– พันธุกรรม มีการศึกษาพบว่า ผู้เป็นฝ้ามักมีประวัติครอบครัว ที่เป็นฝ้าร่วมด้วย
– ฮอร์โมน ดังจะเห็นได้จากมักพบฝ้าที่รักษาได้ยากในกลุ่มคนที่รับประทานยาคุมกำเนิด หรือ หลังคลอดบุตร ซึ่งมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ‘mask of pregnancy’
– ความร้อน หรือ อินฟาเรด ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้ด้วย
ดังจะเห็นได้จากกลุ่มแม่ครัวที่อยู่หน้าเตามักมีฝ้าที่หน้าแม้ว่าจะไม่ได้โดนแสงแดดเลยก็ตาม
2. ฝ้าเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง รักษายาก
จนถึงปัจจุบัน นักวิจัยยังถกเถียงกันมากเรื่องสาเหตุของการเกิดฝ้าซึ่งซับซ้อนมาก มีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับแสงแดด เซลล์สร้างเม็ดสี เซลล์ผิวหนัง หรือการสร้างเส้นเลือดใต้ผิวหนังก็ตาม ดังนั้นในทางการแพทย์จึงพยายามคิดค้นวิจัยวิธีการรักษาฝ้ากันอย่างต่อเนื่อง การรักษามีได้หลายวิธีเช่น:
– ยาทา
– ยารับประทาน
– การทำทรีตเม้นท์
– การผลัดเซลล์ผิวหนัง
– การทำเลเซอร์
– การฉีดยาหรือสารบางชนิดโดยตรงไปยังบริเวณฝ้า
– การใช้ฮอร์โมนบางชนิดเพื่อช่วยรักษาฝ้า (ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัย)
ป้องกันฝ้าง่ายกว่ารักษาฝ้า
เมื่อรักษายาก การป้องกันก็น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยได้มากกว่า การป้องกันที่สำคัญจะเน้นที่การปกป้องจากแสงแดดเป็นหลักซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่พอจะควบคุมได้มากที่สุด
รศ. พญ. เปรมจิต จันทองจีน